วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การดำเนินงาน จะมีลักษณะเป็นรูปแบบรายการใดรูปแบบรายการหนึ่งชัดเจน เช่น รูปแบบรายการเพลง รูปแบบรายการข่าว
ผู้ผลิตรายการหรือผู้ควบคุมการผลิตจะรับผิดชอบรายการในช่วงเวลาหรือประเภทรายการ
สิ่งที่ควรทราบก่อนในเบื้องต้นเพื่อวางแผนการผลิตรายการ คือ
1. วัตถุประสงค์และนโยบายของสถานีและบริษัทผู้ผลิตรายการ
2. ผู้ฟังเป้าหมาย
3. สถานี เวลาออกอากาศ ความยาวรายการ
4. ทรัพยากรที่มีอยู่ของสถานีหรือบริษัท ได้แก่ บุคลากร งบประมาณ อุปกรณ์ ระยะเวลา
5. ศึกษาตัวอย่างที่ดี เพื่อนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับรายการ หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจ
6. วางแผนการผลิตรายการ
6.1 กำหนดวัตถุประสงค์รายการ เพื่อให้การผลิตรายการเป็นที่ต้องการว่าจะมุ่งนำเสนออะไรแก่ผู้ฟัง 6.2 กำหนดโครงร่างของรายการ ได้แก่ เนื้อหา ประเด็นของเนื้อหา รูปแบบรายการ
แขกรับเชิญ /วิทยากร
6.3 เขียนบท ผู้เขียนบทจะนำแนวคิดและประเด็นคร่าว ๆ หรือโครงร่างของรายการที่ได้รับจากผู้ผลิตรายการ ไปสร้างจินตนาการและเรียบเรียงออกมาเป็นข้อความ ( คำพูด ) เสียงเพลง เสียงประกอบต่าง ๆ ตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนบท โดยการศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่
- แหล่งข้อมูลบุคคล เช่น นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ
- แหล่งข้อมูลเอกสารและสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ เทปเสียง อินเทอร์เน็ต
- แหล่งข้อมูลที่เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ เช่น สถานที่เกิดเหตุ สถานที่ในท้องเรื่อง ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มานี้จะนำมาวางโครงร่างของบทว่า ในรายการมีเรื่องหรือประเด็นอะไร ลำดับเนื้อหาอย่างไร มีวิธีการนำเสนออย่างไร แต่ละช่วงรายการมีความยาวเท่าไร จากนั้นจึงเขียนบท
6.4 การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์รายการ เมื่อได้บท ข้อมูล ประเด็นคำถามหรืออื่น ๆ พร้อมแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาอีกว่า ต้องใช้วัสดุรายการอะไร ควรเตรียมให้พร้อมก่อนการผลิตรายการ ดนตรี เสียงประกอบ เทปเสียงที่ต้องการใช้ ไมโครโฟนที่เหมาะสมกับงาน การสำรองวัสดุที่ใช้ในการบันทึกเสียงและการตัดต่อเทป การเตรียมเทปแทรก (Insert Tape) ในรายการสารคดี นิตยสารทางอากาศ สัมภาษณ์ มักใช้การบันทึกเสียงนอกสถานที่มาประกอบในรายการ เทปเหล่านี้ถ้ามีความยาวมากไปหรือไม่สมบูรณ์จะต้องนำมาตัดต่อให้ได้เนื้อหาที่ต้องการ ภายในเวลาที่กำหนด การเตรียมเทปแทรกควรบันทึกลงในเทปเสียง แยกเป็นแต่ละส่วนไว้ เพื่อใช้งานได้สะดวก โดยเขียนบอกรายละเอียดไว้ในบทด้วยว่า เทปนี้เป็นเรื่องอะไร เสียงของใคร ขึ้นต้นด้วยข้อความ / คำพูดอะไร ลงท้ายด้วยข้อความ / คำพูดอะไร
6.5 การประสานงานบุคลากร โดยเฉพาะกับแขกรับเชิญหรือวิทยากร ต้องติดต่อล่วงหน้า นัดหมายเวลา สถานที่ที่จะบันทึกเสียง กรณีรายการสด หากแขกรับเชิญหรือผู้ร่วมรายการไม่สามารถมาออกอากาศได้จะต้องทำเทปล่วงหน้าหรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนผู้ร่วมรายการ หรือต้องเปลี่ยนประเด็นที่จะเสนอหรือไม่
6.6 จองห้องบันทึกเสียง กรณีเป็นรายการเทป
7. ขั้นการซักซ้อม (Rehearsal) การซ้อมเป็นสิ่งจำเป็นในการผลิตรายการ โดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการ ผู้อ่านข่าว ผู้แสดงละครวิทยุ ต้องซ้อมการอ่านบท เพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหา ประเด็นคำถาม เรื่องราว อารมณ์ของบท ไม่ว่ารายการประเภทใดหากได้ซ้อมก่อนย่อมสร้างความมั่นใจในการทำงานทั้งสิ้น


วัตถุประสงค์การซ้อม
1. เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพูด ไม่ประหม่า ตื่นกลัว
2. เกิดความราบรื่น ไม่ผิดพลาดบ่อย ๆ ทำให้เกิดความน่าฟัง ไม่เสียอารมณ์
3. เป็นการตรวจสอบการอ่าน ได้แก่ คำยาก คำเฉพาะ การแบ่งวรรคตอน
4. ทำให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหา เรื่องราวและอารมณ์ของบทหรือตัวละคร โดยใช้ลีลา น้ำเสียงจังหวะวรรคตอน ทำให้ผู้ฟังสามารถจินตนาการได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ผู้เขียนบท

ประเภทของการซ้อม
1. การซ้อมอ่านบท (Script Reading) เป็นการทำความเข้าใจเนื้อหา การอ่านออกเสียง การแบ่งวรรคตอน การแสดงอารมณ์ ความรู้สึก บรรยากาศอย่างถูกต้อง การซ้อมอ่านบทยังเป็นการตรวจความถูกต้องของภาษาและข้อมูลได้อีกขั้นหนึ่ง เนื่องจากเคยปรากฏเสมอว่า บทที่เขียนมายังขาดความถูกต้องหรือบทไม่มีความชัดเจน เช่น การส่งโทรสารหรือเป็นความผิดพลาดจากผู้เขียนบทเองก็ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรายการประเภทใด หากได้ซ้อมอ่านบทก่อนย่อมสร้างความมั่นใจในการทำงานทั้งสิ้นยิ่งปัจจุบันการนำเสนอรายการส่วนใหญ่เป็นรายการสด ความถูกต้องของข้อมูลต้องตรวจสอบเป็นอย่างดี
2. การซ้อมแห้ง (Dry Run) เป็นการซ้อมคิวหรือกำหนดคิวว่าใครจะทำอะไรก่อนหลังอย่างไร การซ้อม ฟังความถูกต้อง การซ้อมจับเวลาบท การซ้อมแบบนี้มักไม่ใช้อุปกรณ์การผลิตใด ๆ
3. การซ้อมกับไมโครโฟน (Microphone Rehearsal) เป็นการซ้อมที่ต้องใช้อุปกรณ์ เช่น ไมโครโฟนในห้องบันทึกเสียง เพื่อตั้งระดับความดัง - เบาของเสียงให้เหมาะสม หรือการซ้อมไปพร้อมการใส่ดนตรี เสียงประกอบ อย่างไรก็ตามแต่ละรายการมีความต้องการการซ้อมในระดับที่ต่างกัน นอกจากนี้หากรายการที่มีความยุ่งยาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตควรซ้อมการวางคิวเสียง วัสดุประกอบรายการต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนการออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น